การพัฒนาและดูแลเว็บไซต์ WordPress มีหลายปัจจัยที่ต้องพิจารณาเพื่อให้เว็บไซต์มีประสิทธิภาพสูงสุดและปลอดภัย การเลือกใช้ธีมและปลั๊กอินที่เหมาะสม รวมถึงการอัพเดท WordPress Core และปลั๊กอินอย่างสม่ำเสมอเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม นอกจากนี้ การ Backup ข้อมูลเป็นประจำและการเลือกโฮสติ้งที่มีคุณภาพจะช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างราบรื่น การเรียนรู้พื้นฐานการเขียนโค้ดและการย่อขนาดรูปภาพก่อนอัพโหลดจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของเว็บไซต์ การใช้ระบบ Cache และการปรับแต่ง wp-login.php เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มความเร็วและความปลอดภัยของเว็บไซต์ และอย่าลืมปฏิบัติตามกฎหมาย PDPA เพื่อคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งาน
ในทางตรงกันข้าม การกระทำบางอย่างที่ไม่ควรทำเช่น การแก้ไขไฟล์ธีมโดยตรง การใช้ธีมหรือปลั๊กอินเถื่อน และการใช้รูปภาพที่มีลิขสิทธิ์โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง นอกจากนี้ การย่อและรวมไฟล์ JavaScript จากการใช้ปลั๊กอินแคชอาจก่อให้เกิดปัญหาในบางครั้ง การพึ่งพาปลั๊กอินมากเกินไปก็ไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด และควรหลีกเลี่ยงการให้เซิร์ฟเวอร์จัดการย่อขนาดรูปภาพ อีกทั้งอย่าลืมลบปลั๊กอินหรือธีมที่ไม่ได้ใช้งานเพื่อลดภาระของระบบและเพิ่มความปลอดภัย
บทความนี้จะช่วยให้คุณรู้จักกับวิธีการที่ถูกต้องในการปรับแต่งและดูแลเว็บไซต์ WordPress ของคุณ เพื่อให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และมีคุณภาพในระยะยาว
สารบัญ
สิ่งที่ควรทำ (Do's)
หัวข้อทั้งหมดนี้รวบรวมจากประสบการณ์ของผมเองในการทำ WordPress เพื่อไม่เพียงแต่ทำให้เว็บปลอดภัย แต่ยังช่วยให้เว็บลีน เล็ก โหลดเร็ว และเข้าใจว่าวิธีการที่ถูกต้องในการปรับแต่ง WordPress ของคุณเอง
การเลือกใช้ธีม
การเลือกธีมสำหรับ WordPress มีหลายสิ่งที่ควรคิดถึง อย่างแรกคือควรเลือกธีมที่ได้รับการอัพเดทอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้แน่ใจว่ามีความปลอดภัยและคุณภาพที่ดีอยู่เสมอ ถัดไปคือ การดูรีวิวและคะแนนจากผู้ใช้งานคนอื่น จะได้ทราบว่าประสบการณ์จากคนใช้จริง และปัญหาที่เกิดขึ้นคืออะไร การตรวจสอบว่าธีมนั้นรองรับปลั๊กอินที่คุณต้องการใช้ก็เป็นอีกจุดสำคัญ
อีกจุดที่ต้องพิจารณาคือการแสดงผลแบบ Responsive ว่ามีหน้าตาอย่างไร และเป็นไปตามที่คุณต้องการหรือไม่ อย่าลืมทดสอบธีมนี้ใน local หรือ staging environment ก่อน เพื่อความปลอดภัยก่อนที่จะนำไปใช้ใน environment จริง
จุดสุดท้ายที่ควรตรวจสอบคือการโหลด resource ของธีม ว่ามีมากน้อยแค่ไหน ซึ่งส่งผลต่อความเร็วในการโหลดทั้งส่วนหน้าบ้านและหลังบ้านของเว็บไซต์ การโหลดที่ช้าจะส่งผลเสียต่อ SEO โดยเฉพาะในกรณีที่ใช้ page builder ที่ไม่ได้ใช้พื้นฐานจาก gutenburg จะส่งผลกับการโหลด resource และ performance มาก
การเลือกใช้ปลั๊กอิน
การเลือกใช้ปลั๊กอินจากแหล่งที่น่าเชื่อถือเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อป้องกันการติดมัลแวร์และไวรัสที่อาจมากับปลั๊กอิน รวมถึงต้องตรวจสอบการอัปเดตของปลั๊กอินว่าอัปเดตบ่อยแค่ไหน หากปลั๊กอินไม่ได้อัปเดตเป็นเวลานานและ หากมีการขึ้นเตือนไม่ได้ทดสอบกับเวอร์ชั่นของ Core ควรหลีกเลี่ยงการใช้งานปลั๊กอินนั้น
นอกจากนี้ การซัพพอร์ตของปลั๊กอินก็เป็นปัจจัยสำคัญ ควรตรวจสอบว่ามีช่องทางการซัพพอร์ตอะไรบ้าง และความรวดเร็วในการตอบกลับเป็นอย่างไร ซึ่งจะช่วยลดความหงุดหงิดเมื่อเกิดปัญหาในการใช้งานได้
ควรตรวจสอบผลกระทบที่ปลั๊กอินมีต่อเว็บไซต์ ทั้งในด้านหน้าบ้านและหลังบ้าน ว่ามีผลต่อประสิทธิภาพ (Performance) อย่างไร ควรชั่งน้ำหนักข้อดีและข้อเสียในการใช้งาน เพื่อพิจารณาว่าความสามารถที่ได้รับคุ้มค่ากับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นหรือไม่ และอย่าลืมลบปลั๊กอินที่ไม่ได้ใช้งานออกจากเว็บไซต์ เพราะอาจเป็นช่องทางในการเจาะระบบได้
การอัพเดท WorePress Core, Theme Plugins
การอัพเดท Core และ Plugin ไม่เพียงแต่จะช่วยให้คุณได้รับฟีเจอร์ใหม่ ๆ แต่ยังมีบทบาทสำคัญในการอุดรอยรั่วด้านความปลอดภัยด้วย โดยทั่วไปแล้ว การอัพเดท Core ในระดับ Minor มักจะไม่ค่อยมีปัญหามากนัก แต่ปัญหาส่วนใหญ่มักเกิดกับการอัพเดทในระดับ Major มากกว่า (เช่น จากเวอร์ชัน 6.6.0 ไปยัง 6.6.1 หรือจากเวอร์ชัน 6.9.2 ไปยัง 7.0)
ดังนั้น วิธีที่ปลอดภัยที่สุดคือการรอให้เวอร์ชัน Major ออกมาซักระยะหนึ่ง เพื่อให้ Plugin ได้มีเวลาทดสอบกับ Core เวอร์ชันนั้น ๆ ก่อน จากนั้นค่อยทำการอัพเดทตามหลังจะดีกว่าครับ
การ Backup สม่ำเสมอ
การมีข้อมูลสำรองที่อัพเดตอยู่เสมอทำให้ผู้ใช้งานหรือเจ้าของธุรกิจมีความมั่นใจมากขึ้น ลดความกังวลเกี่ยวกับการสูญหายของข้อมูล และช่วยประหยัดเวลาและทรัพยากรในการกู้คืนข้อมูลหรือสร้างข้อมูลใหม่จากศูนย์ นอกจากนี้ การสำรองข้อมูลยังช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับระบบ โดยสามารถกู้คืนระบบได้รวดเร็วหากเกิดการโจมตีจากแฮกเกอร์หรือมัลแวร์
จะปลอดภัยยิ่งขึ้นถ้า Backup นั้นไม่ได้อยู่ในเซิร์ฟเวอร์เดียวกัน ทางเราจะทำการอัพโหลดไปยัง Google Drive ทุกครั้งเสมอที่มีการ Backup โดยมีปลั๊กอินหลายตัวที่ตอบโจทย์ไม่ว่าจะเป็น UpdraftPlus, WP All-in-one Migration และลงตัวเสริมเพิ่ม Google Drive Extension
การเลือกใช้โฮสติ้ง
การเลือกใช้โฮสติ้ง นอกจากสเป็คของเซิร์ฟเวอร์แล้ว ยังต้องคำนึงถึงเรื่องการซัพพอร์ตเมื่อเกิดปัญหาขึ้นมา, เวอร์ชั่นของ PHP, และการรีวิวของผู้ใช้ที่เคยใช้มา ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้คุณสามารถเลือกโฮสติ้งที่เหมาะสมและตอบโจทย์ความต้องการของเว็บไซต์ได้ดีที่สุด
ในปี 2024 ผมได้ทำการสำรวจ “โฮสติ้ง WordPress ยอดนิยมสำหรับคนไทย” เอาไว้เพื่อช่วยในการพิจารณา โดยได้รวบรวมข้อมูลและความคิดเห็นจากผู้ใช้ที่มีประสบการณ์ตรงกับการใช้งานโฮสติ้งเหล่านี้ ข้อมูลดังกล่าวสามารถเป็นแนวทางในการเลือกโฮสติ้งที่มีคุณภาพและเหมาะสมกับการใช้งานของคุณได้
เรียนรู้โค้ด เข้าใจพื้นฐานไว้บ้าง
การรู้พื้นฐานโค้ดจะช่วยให้คุณสามารถปรับแต่งธีม ปลั๊กอิน และฟังก์ชันต่างๆ ของเว็บไซต์ได้ตามความต้องการ อย่างเข้าใจและถูกต้อง นอกจากนี้ หากเกิดปัญหาหรือข้อผิดพลาดในเว็บไซต์ การมีความรู้พื้นฐานด้านโค้ดจะช่วยให้คุณสามารถระบุและแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องพึ่งพานักพัฒนาเสมอไป
ถ้าใครสงสัยว่าจะเริ่มยังไงสำหรับการเป็นนักพัฒนาธีมยังไงดี มีโพสต์ที่ผมเคยเขียนไว้ที่นี่ครับ “เส้นทางสู่การเป็น WordPress Theme Developer มืออาชีพ“
ย่อขนาดรูปภาพก่อนขึ้นเว็บไซต์
การย่อขนาดรูปภาพก่อนอัพโหลดขึ้นเว็บไซต์ WordPress มีข้อดีหลายอย่างที่สามารถช่วยปรับปรุงประสบการณ์การใช้งานและประสิทธิภาพของเว็บไซต์ได้อย่างมาก รูปภาพที่มีขนาดเล็กลงจะใช้เวลาโหลดน้อยลง ทำให้หน้าเว็บโหลดเร็วขึ้น ช่วยปรับปรุงประสบการณ์การใช้งานของผู้เยี่ยมชมและลดอัตราการตีกลับ (bounce rate) นอกจากนี้ยังประหยัดแบนด์วิธซึ่งเป็นประโยชน์ทั้งสำหรับผู้เยี่ยมชมที่ใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วต่ำและเจ้าของเว็บไซต์ที่ต้องการลดค่าใช้จ่ายในการโฮสต์
เว็บไซต์ที่โหลดเร็วขึ้นมีแนวโน้มที่จะได้รับการจัดอันดับที่ดีขึ้นในผลการค้นหาของ Google และเครื่องมือค้นหาอื่นๆ ดังนั้นการย่อขนาดรูปภาพจึงเป็นหนึ่งในวิธีที่ช่วยปรับปรุง SEO ของเว็บไซต์ นอกจากนี้ยังช่วยให้ผู้ใช้งานมือถือที่มักมีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่ช้ากว่าและจำกัดข้อมูลสามารถเข้าถึงหน้าเว็บได้เร็วขึ้น ให้ประสบการณ์การใช้งานที่ดีขึ้น
รูปภาพที่มีขนาดเล็กลงจะลดภาระงานของเซิร์ฟเวอร์ในการจัดส่งไฟล์ ช่วยให้เซิร์ฟเวอร์ทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และช่วยประหยัดพื้นที่ในการจัดเก็บข้อมูลบนเซิร์ฟเวอร์ ทำให้สามารถจัดการเนื้อหาอื่นๆ ได้มากขึ้น
ผมได้เขียนโค้ดสำเร็จรูปเอาไว้เพื่อกำหนดขนาดไฟล์สูงสุดที่สามารถอัพโหลดได้ ซึ่งเป็นตัวช่วยอีกทางในการไม่อนุญาตให้อัพโหลดไฟล์ที่มีขนาดใหญ่เกินไปขึ้นไปบนเซิร์ฟเวอร์ น่าจะช่วยป้องกันปัญหานี้ได้ดีขึ้น ที่โพสต์ “รวมโค้ด WordPress สำเร็จรูป: แก้ปัญหายอดฮิตได้ทันที“
แก้ไข wp-login.php
การแก้ไขหรือปรับแต่งไฟล์ wp-login.php ใน WordPress มีข้อดีหลายอย่าง เช่น การเพิ่มความปลอดภัยโดยการเปลี่ยน URL การเข้าสู่ระบบเป็น URL ที่ซ่อนไว้ ทำให้ลดความเสี่ยงจากการโจมตีแบบ Brute Force ที่พยายามเข้าสู่ระบบโดยการเดารหัสผ่าน
ถ้าให้ดียังสามารถใช้ปลั๊กอิน กับการเข้าสู่ระบบอื่นๆ เช่น การตรวจสอบสองขั้นตอน หรือการยืนยันตัวตนผ่านอีเมล ได้อีกด้วย
ตัวที่ผมใช้บ่อยที่สุดคือ WPS Hide Login
ใช้ระบบ Cache เพื่อเพิ่มความเร็วเว็บไซต์
การทำแคช (cache) ใน WordPress สามารถแบ่งออกเป็นหลายระดับหลักๆ ได้แก่ แคชของเบราว์เซอร์ (Browser Cache) ที่เบราว์เซอร์ของผู้ใช้จะเก็บข้อมูลบางอย่าง เช่น ไฟล์ภาพ, CSS และ JavaScript เพื่อลดการโหลดซ้ำในครั้งถัดไป
แคชของเซิร์ฟเวอร์ (Server Cache) เป็นการเก็บผลลัพธ์ที่ได้จากการประมวลผลของเซิร์ฟเวอร์ เช่น HTML ที่สร้างขึ้นแล้วเก็บไว้เพื่อลดการประมวลผลซ้ำ โดยแคชของเซิร์ฟเวอร์นั้นรวมถึงแคชของเพจ (Page Cache) ที่เก็บผลลัพธ์ของหน้าเว็บทั้งหน้า, แคชของฐานข้อมูล (Database Cache) ที่เก็บผลลัพธ์จากการคิวรีฐานข้อมูล, และแคชของวัตถุ (Object Cache) ที่เก็บข้อมูลวัตถุที่สร้างขึ้นจากการคำนวณซ้ำๆ
และยังมีแคชของเครือข่ายการส่งเนื้อหา (Content Delivery Network – CDN) ซึ่ง CDN จะเก็บเนื้อหาของเว็บในเซิร์ฟเวอร์หลายๆ ที่ทั่วโลกเพื่อลดระยะเวลาการโหลดของผู้ใช้ที่อยู่ห่างไกลจากเซิร์ฟเวอร์หลัก และแคชของหน่วยความจำ (Opcode Cache) ที่เป็นการแคชของโค้ด PHP ที่คอมไพล์แล้วในหน่วยความจำเพื่อลดเวลาในการคอมไพล์ใหม่ทุกครั้งที่มีการเรียกใช้
โดยสามารถเลือกได้ตามความเหมาะสม ปกติ Plugin cache ที่มีอยู่ในตลาดจะช่วยให้ Page cache เป็นหลัก แต่ถ้าให้ดีที่สุดควรเลือกแคชระดับเซิร์ฟเวอร์ โดยเลือกเซิร์ฟเวอร์ที่มีการซัพพอร์ตด้านนี้เพื่อให้ทำงานได้อย่างสอดคล้องกัน และอย่าลืมใช้แคชระดับ CDN ด้วย การใช้แคชในระดับต่างๆ เหล่านี้จะช่วยให้เว็บไซต์ WordPress ของคุณมีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น ลดเวลาการโหลดหน้า และลดภาระงานของเซิร์ฟเวอร์
Plugin Cache ที่นิยมในตลาดก็ได้แก่ W3 Total Cahce, WP Super Cache, WP Rocket, Litespeed Cache เป็นต้น
อย่าลืมเรื่อง PDPA
ถึงแม้การบังคับใช้กฎหมาย PDPA จะค่อนข้างเบาบาง แต่ก็อย่าลืมว่ากฎหมายยังคงมีผลบังคับใช้ หลายๆ เว็บไซต์ที่ยังคงเก็บข้อมูลโดยไม่ได้ขอความยินยอมจากผู้ใช้ ควรอย่างน้อยที่สุดแสดง Popup เพื่อแจ้งผู้ใช้ จากปุ่ม “ยอมรับ” อาจเปลี่ยนเป็น “รับทราบ” แทน หากใครยังไม่มีระบบนี้ ผมขอแนะนำ Designil PDPA ซึ่งมีความสามารถครอบคลุมตามที่กฎหมายกำหนดทุกอย่าง และสามารถปรับแต่งรูปแบบการแสดงผลได้หลากหลาย เป็นตัวช่วยที่ทำให้การปฏิบัติตามกฎหมายเป็นเรื่องง่ายขึ้น
สิ่งที่ไม่ควรทำ (Don'ts)
สิ่งที่ควรระวังในการใช้ WordPress ที่ควรหลีกเลี่ยงไม่เพียงแต่ลดความเสี่ยงจากการถูกแฮก ไวรัส หรือมัลแวร์ แต่ยังช่วยป้องกันการทำให้เว็บไซต์ช้าลงและการใช้ทรัพยากรเซิร์ฟเวอร์เกินความจำเป็นอีกด้วย
แก้ไฟล์ธีมโดยตรง ในธีมสำเร็จรูป
ถ้าหากเราแก้ไขธีมตรงๆ ปัญหาจะเกิดขึ้น เมื่อต้นทางมีการอัพเดทจะทำให้ไฟล์ที่เราทำการแก้ไข จะถูกทับหายหมด โดยธีมสำเร็จรูปที่ได้มาตรฐานจะมี Child themes มาให้เสมอ เพื่อประโยชน์ในการแก้ไข ปรับแต่ง ในวิธีที่ถูกต้อง
โดยสามารถศึกษา Handbook ได้ ที่นี่
ใช้ธีมหรือปลั๊กอินเถื่อน
หลายคนได้รับของแถมที่ไม่พึงประสงค์จากการดาวน์โหลดปลั๊กอินเถื่อน โดยเฉพาะจากเว็บไซต์ที่โฆษณาว่าเป็นแหล่งรวม GPL โดยอันตรายมาก หากนำมาใช้งาน เพราะอาจต้องเสียเวลาแก้ไขปัญหาในอนาคต ซึ่งไม่คุ้มค่าเลย
ระวังเรื่องการใช้รูปภาพที่มีลิขสิทธิ์
การใช้รูปลิขสิทธิ์ในเว็บไซต์สามารถก่อให้เกิดปัญหาหลายประการ โดยเฉพาะทางด้านกฎหมายและศีลธรรม หากคุณใช้รูปภาพที่มีลิขสิทธิ์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ คุณอาจถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย ซึ่งอาจมีมูลค่าสูงมาก
นอกจากนี้ การใช้รูปภาพเหล่านี้โดยไม่ได้รับอนุญาตยังเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามหลักจริยธรรม เพราะเป็นการละเมิดสิทธิของผู้สร้างสรรค์ผลงาน การแก้ปัญหานี้สามารถทำได้โดยการใช้รูปภาพที่ได้รับอนุญาต หรือรูปภาพที่มีลิขสิทธิ์แบบเปิด (Creative Commons) หรือการใช้รูปภาพที่ซื้อมาอย่างถูกต้องจากเว็บไซต์ที่ให้บริการขายรูปภาพ ซึ่งจะช่วยให้คุณมั่นใจได้ว่าการใช้รูปภาพนั้นถูกต้องตามกฎหมายและจริยธรรม
โดยแหล่งรวมรูปฟรีทั้งหลายมีมากมายให้ใช้ตอนนี้ไม่ว่าจะเป็นให้ AI ช่วย gen รูปให้หรือไปยังแหล่งรวมรูปฟรีต่างๆ เช่น Pixabay, Unsplash, Pexels, Freepik, Burst เป็นต้น
การย่อและรวมไฟล์ js จากการใช้ปลั๊กอินแคช
ข้อควรระวังในการใช้ปลั๊กอินแคชที่สำคัญคือการใช้ฟังก์ชัน minify และ combine ไฟล์ JavaScript ซึ่งบ่อยครั้งอาจทำให้เกิดข้อผิดพลาด (JS error) และทำให้หน้า UI ไม่ทำงาน หากเกิดข้อผิดพลาดนี้ คุณควรตรวจสอบหาแหล่งที่มาของข้อผิดพลาด โดยใช้ฟีเจอร์ exclude เพื่อยกเว้นไฟล์ที่ไม่ต้องการให้รวมและย่อขนาด จากนั้นตรวจสอบผลลัพธ์และทำซ้ำขั้นตอนนี้จนกว่าจะหาต้นเหตุของปัญหาได้
ปลั๊กอินไม่ได้แก้ปัญหาได้ทุกอย่าง
หลายๆ คนมักใช้ปลั๊กอินเพื่อแก้ปัญหาหรือเพิ่มฟีเจอร์ต่างๆ บนเว็บไซต์ จนบางครั้งเว็บไซต์มีขนาดใหญ่และส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงาน แต่บางปัญหาหรือฟีเจอร์ที่เราต้องการสามารถแก้ไขได้ง่ายๆ ด้วยการใช้ Hook ในฟังก์ชันต่างๆ ผมได้รวบรวมบทความที่มีโค้ดตัวอย่าง (code snippet) สำหรับแก้ปัญหาหลายๆ อย่างที่พบเจอ อ่านได้ ที่นี่ ครับ
เลี่ยงได้ อย่าพยายามให้เซิร์ฟเวอร์จัดการย่อขนาดรูปภาพให้
การย่อขนาดรูปไม่เพียงแต่ช่วยประหยัดพื้นที่บนเซิร์ฟเวอร์ แต่ยังช่วยให้การโหลดรูปเร็วขึ้น และลดการประมวลผลของเซิร์ฟเวอร์ด้วยการทำ pre-process รูปก่อนอัพโหลด นอกจากนี้ยังช่วยประหยัดเงิน เนื่องจากปลั๊กอินลดขนาดมักมีเครดิตฟรีในช่วงแรก และต้องเสียเงินในภายหลัง
วิธีที่ควรทำคือ การตั้ง Policy เพื่อลดขนาดรูปให้เหมาะสมก่อน จากนั้นแปลงรูปเป็นไฟล์ AVIF, WebP เพื่อให้ได้ไฟล์ที่บีบอัดเล็กที่สุด นอกจากนี้ยังสามารถกำหนดขนาดสูงสุดในการอัพโหลดไฟล์ด้วยเพื่อป้องกัน คนที่ไม่ยอมทำตาม Policy
ไฟล์ AVIF (AV1 Image File Format) คือรูปแบบไฟล์ภาพที่บีบอัดด้วยเทคโนโลยี AV1 จาก Alliance for Open Media (AOMedia) มีข้อดีคือคุณภาพสูงและขนาดไฟล์เล็กกว่ารูปแบบอื่น ๆ เช่น JPEG หรือ PNG รองรับสีที่มีช่วงกว้างและการโปร่งใส การใช้งานไฟล์ AVIF กำลังเป็นที่นิยมในวงการเว็บดีไซน์และพัฒนาเว็บไซต์ เนื่องจากช่วยประหยัดพื้นที่จัดเก็บและเพิ่มความเร็วในการโหลดภาพบนเว็บ
ลืมลบปลั๊กอิน หรือธีมที่ไม่ได้ใช้งาน
การไม่ลบปลั๊กอินหรือธีมที่ไม่ได้ใช้งานอาจส่งผลเสียหลายอย่าง ทั้งในเรื่องความปลอดภัยของเว็บไซต์ ปลั๊กอินและธีมที่ไม่ได้ใช้งานแต่ยังคงอยู่ในระบบอาจมีช่องโหว่ที่แฮกเกอร์สามารถใช้เจาะระบบได้ ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงด้านความปลอดภัย
นอกจากนี้ยังสิ้นเปลืองพื้นที่บนเซิร์ฟเวอร์ ทำให้พื้นที่เก็บข้อมูลเต็มเร็วขึ้น แม้จะไม่ได้ใช้งาน แต่ปลั๊กอินและธีมบางส่วนอาจยังคงโหลดบางไฟล์หรือกระบวนการ ทำให้เว็บไซต์ทำงานช้าลง
โดยหวังว่าบทความนี้จะช่วยผู้อ่านในการทำ WordPress ที่ถูกต้อง และหลีกเลี่ยงสิ่งที่ไม่ควรทำ เพื่อให้เว็บไซต์ WordPress ของคุณออกมาดีที่สุด