
สารบัญ
เมื่อเร็วๆ นี้ ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมงาน WebPresso ในหัวข้อ “SEO สำหรับคนทำเว็บ” ซึ่งจัดโดย สมาคมผู้ดูแลเว็บไซต์และสื่อออนไลน์ไทย จัดวันที่ 30 มิถุนายน 2567 ณ สยามพารากอน SCBX NEXT TECH งานนี้มีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญอย่างคุณไตเติ้ล Head of Priceza Money ที่ปลุกปั้นตั้งแต่เริ่มต้นไปจนถึงมีผู้เข้าชมวันละหมื่นคน และคุณแทนจาก Livetube X ที่ดูแลเว็บสำนักข่าวชื่อดัง โดยเน้นไปทางด้านการพัฒนาและเทคนิค ซึ่งทำยังไงให้ส่งผลดีต่อ SEO
ความหมายและแก่นของ SEO
SEO (Search Engine Optimization) คือการปรับปรุงเว็บไซต์ให้ติดอันดับใน Search Engine เช่น Google และ Bing โดยมากกว่า 90% ของผู้ใช้ Search Engine จะมาจาก Google แก่นของ SEO คือการสร้างเนื้อหาที่ตอบโจทย์และความต้องการของผู้ค้นหา การทำ SEO จะเน้นการให้ผู้ค้นหาวิ่งมาหาเรา ต่างจากการยิง Ads ที่เราต้องวิ่งไปหาผู้ใช้ SEO จึงเป็นการวิเคราะห์คีย์เวิร์ดที่มีการค้นหาจริงๆ ผ่านเครื่องมืออย่าง Keyword Planner และการทำ Content ให้ตรงใจผู้บริโภค ไม่ใช่เพียงแค่การใส่คีย์เวิร์ดที่เราอยากให้มี

Priceza money ทำไมต้องทำ SEO
การสร้างเว็บไซต์เปรียบเทียบประกันรถยนต์ ในช่วงเริ่มต้นก็ได้ใช้หลายวิธีในการดึงดูดความสนใจของผู้ใช้งาน เช่น การยิงโฆษณา (ads) แต่พบว่าค่าใช้จ่ายกลับสูงขึ้นเรื่อยๆ ในครั้งหลังๆ พุ่งไปถึง 50% ในทางกลับกัน การทำ SEO ให้เราได้รับลูกค้าฟรีๆ จากการค้นหา (organic search) ซึ่งข้อได้เปรียบของ priceza money คือคู่แข่งในวงการทำ SEO สำหรับประกันภัยรถยนต์ค่อนข้างน้อย
ปัญหาของการทำ Keyword Research คือทุกคนจะได้คีย์เวิร์ดเหมือนๆ กัน เพราะส่วนมากจะใช้ Tools เจ้าดังในตลาด เช่น ahrefs, semrush ซึ่งแตกต่างกับการหาข้อมูลจากแหล่งอื่นๆ เช่น Pantip และกลุ่มใน Facebook จะช่วยให้เราได้ insight มากขึ้นเกี่ยวกับปัญหาที่ผู้คนประสบจริงๆ เช่น ปัญหาในการซื้อประกันรถยนต์ หรือปัญหาการเคลมประกัน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้เราสามารถสร้างเนื้อหาที่ตอบโจทย์และแก้ปัญหาของผู้ใช้งานได้ดียิ่งขึ้น
การทำคอนเทนต์ที่เน้นไปที่การแก้ปัญหาของผู้ใช้งานมากกว่าการมุ่งหาคีย์เวิร์ดจะทำให้เว็บไซต์ของเราได้รับความสนใจและ มีโอกาสนำไปสู่การสร้างรายได้จากการขายประกันรถยนต์ได้มากกว่า
Content Strategy
คนที่รู้จริงจะสื่อสารไม่ค่อยเก่ง คนที่สื่อสารเก่งส่วนมากจะไม่ค่อยรู้จริง
คุณไตเติ้ล กล่าว
นี่คือ insight ของวงการประกันรถยนต์ การแปลงศัพท์ยากๆ ให้เป็นภาษาคนทั่วไปเข้าใจเป็นสิ่งสำคัญมาก เช่น คำว่า “สินไหมทดแทน” อาจทำให้หลายคนสับสน ถ้าเราอธิบายว่าเป็น “การจ่ายเงินชดเชยเมื่อเกิดอุบัติเหตุ” ก็จะช่วยให้คนทั่วไปเข้าใจได้ง่ายขึ้น
หรือการไปศึกษาคอนเทนต์คนอื่นหรือคู่แข่งว่าเค้าทำอะไรไปแล้วบ้าง เราสามารถเอาจากหลายๆ แหล่งมารวมกัน แล้วมาวิเคราะห์เพื่อให้คำตอบที่ดีกว่าเดิม แถมเพิ่มสิ่งใหม่เข้าไป ให้กลายเป็นคอนเทนต์ ใหม่ได้

การใช้ Press release = Backlink
คุณไตเติ้ลยกตัวอย่างการใช้โอกาสจากข่าวเรื่องประกันรถยนต์ EV โดยการหาข้อมูลเชิงลึกจากการเข้าร่วมกลุ่มต่างๆ ใน Facebook ช่วยให้เราทราบ insight ก่อนใคร และสามารถเขียนข่าวได้ก่อนใคร ผลลัพธ์คือทำให้สำนักข่าวทั้งทีวีและเว็บไซต์สนใจนำเสนอข่าวนี้ และเรายังได้ backlink มาฟรีจากเว็บไซต์สำนักข่าวที่มีชื่อเสียง ซึ่งเว็บไซต์เหล่านี้มีอายุการใช้งานมายาวนาน ทำให้คะแนน SEO ของเราเพิ่มขึ้นอย่างมาก
หากเรามีความรู้จริงและเป็นผู้เชี่ยวชาญ ก็จะมีโอกาสติดต่อกับนักข่าว และสร้างเนื้อหาที่มีประโยชน์ในอนาคตได้ รวมถึงการทำให้เนื้อหาของเราได้รับการแชร์ต่ออย่างกว้างขวาง การให้ข้อมูลที่มีประโยชน์เกี่ยวกับประกันรถยนต์ EV จะช่วยเพิ่มการค้นหาและสนับสนุนส่วนอื่นๆ ของเว็บไซต์ และยังสร้างการรับรู้ถึงแบรนด์ (awareness) ได้อีกด้วย

จากรุ่งไปร่วง ทำอย่างไรดี ?
เมื่อไม่นานมานี้ Google ได้ปรับอัลกอริทึม ทำให้เว็บไซต์ที่มีชื่อเสียงหลายแห่งมียอดผู้เข้าชมลดลงอย่างมากจนแทบจะถึงจุดต่ำสุด การไม่พึ่งพาช่องทางเดียวในการหารายได้เป็นสิ่งสำคัญ เช่นเดียวกับการไม่เอาไข่วางไว้ในตะกร้าใบเดียว การหารายได้จากช่องทางอื่นๆ เช่น Facebook, YouTube, TikTok, หรือการจัดกิจกรรม (Event) จะช่วยกระจายความเสี่ยง หาก Google ปรับ algorithm ก็จะยังมี Traffic เข้าใจช่องทางอื่นๆ ได้
SEO ไม่ได้หมายถึงแค่บทความอย่างเดียว แต่มันคือเนื้อหาที่เราสร้างขึ้นและสามารถนำเสนอในรูปแบบต่างๆ เช่น การทำวิดีโอใน YouTube, การสร้างคลิปสั้นใน TikTok, หรือการจัดกิจกรรมต่างๆ ทั้งหมดนี้สามารถเป็นเนื้อหาเดียวกันได้ เพียงแค่เปลี่ยนวิธีการนำเสนอ จากการเขียนเป็นการพูด และทำเป็นวิดีโอ
การนำเสนอเนื้อหาในแต่ละแพลตฟอร์มควรแตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น ใน Facebook ควรใช้ Info Graphic เพราะผู้ใช้งานไม่ชอบอ่านบทความยาวๆ ใน TikTok ควรเล่าเรื่องสั้นๆ สักเรื่องเดียว หากผู้ชมสนใจดูเพิ่มเติม สามารถไปดูวิดีโอยาวๆ ต่อใน YouTube
การปรับเนื้อหาให้เหมาะสมกับแพลตฟอร์มแต่ละที่ไม่เพียงแต่จะช่วยเพิ่มการเข้าถึง แต่ยังสร้างความสนใจและ engagement จากผู้ใช้งานได้มากขึ้น
ถ้าอันดับ SEO ดีอยู่แล้ว ต้องทำเพิ่มไหม
คุณแทนกล่าวว่าอย่าพยายามปรับแต่งมากเกินไปถ้าตัวเว็บเดิมดีอยู่แล้ว แต่ควรเน้นปรับปรุงส่วนที่มีปัญหา เช่น หากความเร็วของหน้าเว็บ (page speed) ไม่ดี ควรให้ความสำคัญในการปรับปรุงให้ดีขึ้น ตัวอย่างเช่น ในกรณีของเนื้อหาเกี่ยวกับเทศกาลสงกรานต์ของปีที่แล้ว ในปีถัดมาอาจเพิ่มสถานที่ใหม่ๆ เข้าไป เป็นอีกเทคนิคหนึ่งในการปรับปรุงเนื้อหาให้ถูกใจ SEO
มีสำนักข่าวแห่งหนึ่งได้แบ่งเวลาในการทำงาน โดยใช้ 30% สำหรับการอัพเดทเนื้อหาเก่า และ 70% สำหรับการสร้างบทความใหม่ ซึ่งจะช่วยให้เว็บไซต์มีเนื้อหาที่สดใหม่และยังคงคุณภาพของเนื้อหาเก่าให้อัพเดท และดีอย่างสม่ำเสมอ
ใช้ Google search console ให้เป็นประโยชน์
การใช้ Google Search Console ช่วยให้ bot ของ Google เก็บข้อมูลจากเว็บไซต์ของเรา หากมีปัญหาเช่น 404 หรือ no index ควรแก้ไขปัญหาเหล่านั้น อีกปัญหาคือ Core Web Vitals ที่สำคัญมีดังนี้:
- LCP (Largest Contentful Paint): วัดความเร็วในการโหลดเนื้อหาหลักของหน้าเว็บ
- CLS (Cumulative Layout Shift): วัดความเสถียรของหน้าเว็บ เวลาโหลดเนื้อหา หน้าจอขยับหรือไม่ ต้องทำให้ layout คงที่
- FID (First Input Delay): เปลี่ยนเป็น INP (Interaction to Next Paint) วัดการตอบสนองเมื่อมีการกดปุ่มหรือการกระทำใดๆ หากใช้เวลานานเกินไปคะแนนจะต่ำ ควรปรับปรุงให้ตอบสนองเร็วขึ้น
การทำให้เว็บไซต์มีอันดับดีขึ้นสามารถส่งเสริม SEO ได้อีก ลองใช้ heatmap เพื่อตรวจสอบพฤติกรรมการ scroll ของผู้ใช้งาน และปรับปรุง UX หากพบว่าผู้ใช้ดูแป๊บเดียวแล้วออกจากหน้าเว็บ ก็ควรหาสาเหตุว่าเพราะอะไร
หากเว็บไซต์ของคุณมีอายุมากกว่า 8 ปี ควรพิจารณาทำการ revamp เนื่องจากเว็บไซต์ที่สร้างมานานอาจไม่ได้คำนึงถึงปัจจัย Core Web Vitals ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการประเมินคุณภาพเว็บไซต์ในปัจจุบัน ถ้าหากไม่สามารถทำการ revamp ได้ ลองใช้ปลั๊กอินใน WordPress เช่น WP Rocket แม้ว่าจะไม่ดีเท่าการทำ revamp แต่ก็สามารถช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพของเว็บไซต์ได้ในระดับหนึ่ง

Case Study ที่เกิดขึ้นจากหลายๆ เว็บไซต์
- การจัดการกับลิงก์เว็บพนัน: บางเว็บไซต์มีปัญหาทราฟฟิกที่มีลิงก์เว็บพนันออกมาจากเว็บของเรา ซึ่งบางคีย์เวิร์ดเกี่ยวกับเว็บพนันถูกนำมาใส่ในช่อง Search ของเว็บไซต์ พยายามทำ no-index สำหรับหน้า search เพื่อป้องกันไม่ให้ Google เก็บข้อมูลหน้าเหล่านี้ ข้อเสียคือจะทำให้สูญเสียลิงก์ที่หน้า Search ที่ติด Google ไป
- การจัดการลิงก์เก่า: เมื่อทำการเปลี่ยนธีมใหม่ของเว็บไซต์ ลิงก์เก่าบางลิงก์อาจหายไป อย่าลืมทำ redirection เพื่อนำลิงก์เก่ามาใช้ใหม่และป้องกันการสูญเสียทราฟฟิก
- การทำ sitemap: ใช้ปลั๊กอินต่างๆ ในการสร้าง sitemap เพื่อให้ Google สามารถเก็บข้อมูลเว็บไซต์ของเราได้ง่ายขึ้น
- การอัพเดทปลั๊กอินและธีม (WordPress): อย่าลืมอัพเดทปลั๊กอินและธีมเป็นประจำ เนื่องจากเวอร์ชั่นเก่าอาจมีช่องทางให้โดนโจมตีได้
- การอัพเดท PHP: ใช้ PHP เวอร์ชั่นใหม่ๆ เพื่อป้องกันช่องทางโดนโจมตีที่อาจเกิดขึ้นจากเวอร์ชั่นเก่า
- การใช้ CDN และ Firewall: ใช้ CDN เพื่อช่วยป้องกันและเพิ่มความเร็วในการโหลดหน้าเว็บ นอกจากนี้ การใช้ Firewall ก็ช่วยป้องกันการโจมตีได้ในระดับหนึ่ง
- Domain Rating (DR): แม้ Domain Rating จะเป็นปัจจัยหนึ่งในการจัดลำดับเว็บไซต์ แต่ก็ไม่ใช่ปัจจัยที่สำคัญที่สุด หาก Content ดีและมีคุณภาพ ก็สามารถเอาชนะเว็บไซต์ที่มี DR สูงได้ ใส่ใจ UX (User Experience) เช่น ความเร็วในการโหลดหน้าเว็บ เพราะสิ่งนี้ส่งผลกระทบกับผู้ใช้งานโดยตรง
- Content และความเร็วในการโหลด: หาก Content ดีแต่โหลดไม่เร็ว ควรพิจารณาปรับปรุงความเร็วในการโหลด โดยเฉพาะในกรณีที่มีคู่แข่ง เพราะ Google จะนำหลายปัจจัยมาวัดรวมกันในการจัดอันดับ
- การทำวิดีโอยังไงก็ไม่สู้บทความ: ในแง่ของเนื้อหาที่ละเอียดของข้อมูลได้ แต่บางครั้งผู้คนอาจจะเบื่อจากการอ่านบทความและต้องการเปลี่ยนมาดูวิดีโอสั้นๆ ที่ใช้เวลาเพียง 1 นาทีแทน แต่เราก็ไม่ควรยึดติดกับการเขียนบทความเพียงอย่างเดียว เพราะการนำเสนอเนื้อหาในหลายรูปแบบจะทำให้เราตอบโจทย์ลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น
ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ SEO
- หลายคนเชื่อว่าการใส่คีย์เวิร์ดเยอะๆ จะทำให้ติดอันดับ Google แต่จริงๆ แล้วการโฟกัสไปที่เรื่องเดียวจะดีกว่า หากมีหลายเรื่องควรแยกไปทำเป็นเนื้อหาอื่นๆ
- การติดอันดับใน SEO ไม่ได้หมายความว่าจะติดอันดับตลอดไป อันดับสามารถร่วงลงได้ตลอดเวลา
- บางคนเน้นสร้างเนื้อหาเป็นปริมาณมาก เช่น วันหนึ่งมี 100 ข่าว แต่จริงๆ แล้วการเขียนเนื้อหาที่มีคุณภาพจะดีกว่าในระยะยาว
- การใส่ Link เยอะๆ ในเว็บไซต์ไม่ดี แต่หากลิงก์มีประโยชน์จริงๆ จะทำให้คะแนน SEO ดีขึ้น เปรียบเสมือนการพูดเยอะ แต่ไม่มีเนื้อหา ควรใส่ลิงก์ที่มีคุณค่าและเกี่ยวข้อง
หากอันดับร่วง ควรทำอย่างไร
- การใช้ Google Search Console ช่วยตรวจสอบและแก้ไขปัญหาบางอย่าง เช่น หากทำเว็บใหม่แล้วลิงก์หาย ควรทำ redirection มายังเว็บใหม่
- ตรวจสอบการเข้าถึงของ Google bot หาก Google bot ไม่สามารถเก็บข้อมูลจากเว็บไซต์ได้ ควรตรวจสอบและแก้ไขปัญหานี้
- การใช้เครื่องมือ Ahrefs สามารถช่วยตรวจสอบข้อมูลและหาสาเหตุว่าทำไมอันดับถึงร่วง เพื่อนำไปแก้ไขและปรับปรุงเว็บไซต์

ในปี 2024 จำเป็นต้องมีเว็บไซต์อีกไหม?
แม้ว่า AI จะตอบโจทย์การให้ข้อมูลและคำแนะนำได้ดี แต่การมีเว็บไซต์ยังคงมีความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากหลายๆ ปัจจัย:
- ความแม่นยำและความน่าเชื่อถือ: AI อาจให้คำตอบที่รวดเร็ว แต่บางครั้งอาจไม่แม่นยำหรือครบถ้วนเท่าที่ควร การมีเว็บไซต์ที่มีข้อมูลที่ถูกต้องและละเอียดจะช่วยเสริมความน่าเชื่อถือ
- การปิดการขาย: เว็บไซต์เป็นเครื่องมือสำคัญในการปิดการขาย สามารถนำเสนอข้อมูลสินค้าและบริการได้อย่างครบถ้วน และเป็นช่องทางในการนำไปสู่การปิดการขายได้
- การลดค่าใช้จ่ายในการโฆษณา: การมีเว็บไซต์ที่แข็งแกร่งและมี SEO ที่ดีจะช่วยลดความจำเป็นในการซื้อ ads หรือ keyword ในกรณีที่เราต้องไปพึ่งแพลตฟอร์ม คนอื่น แถมยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการจ่าย GP อีกด้วย
- การควบคุมแบรนด์และประสบการณ์ของลูกค้า: เว็บไซต์ช่วยให้เราสามารถควบคุมประสบการณ์ของลูกค้าได้ดีขึ้น ทั้งในด้านของการนำเสนอข้อมูล การบริการลูกค้า และการสร้างความประทับใจ
- การสร้างเนื้อหาที่เป็นประโยชน์และยั่งยืน: การมีเว็บไซต์ทำให้เราสามารถสร้างเนื้อหาที่เป็นประโยชน์และยั่งยืนได้ เช่น บทความเชิงลึก วิดีโอสอน หรือคู่มือการใช้งาน ซึ่งจะช่วยสร้างความผูกพันกับลูกค้าในระยะยาว
สิ่งที่ไม่ควรทำกับ SEO
- ไม่ต้องเน้นปริมาณ รู้ให้จริง เล่าให้ดี: การสร้างเนื้อหาคุณภาพที่มีประโยชน์และมีข้อมูลที่ถูกต้องเป็นสิ่งสำคัญมากกว่าเน้นการผลิตเนื้อหาจำนวนมาก
- อย่าไป copy content คนอื่น: การละเมิดลิขสิทธิ์จะทำให้เว็บไซต์เสียความน่าเชื่อถือและอาจถูกลงโทษจาก Google ควรรวบรวมข้อมูลและสร้างเนื้อหาใหม่พร้อมให้เครดิตแหล่งที่มา
- อย่าใส่ Popup เยอะ: Popup มากเกินไปอาจรบกวนผู้ใช้งาน ควรใช้ slider แทนเพื่อนำเสนอข้อมูลที่สำคัญ
- อย่าใส่ banner เยอะเกินไป: Banner มากเกินไปอาจทำให้หน้าเว็บดูรกและทำให้ผู้ใช้งานรู้สึกไม่สบายใจ
- อย่าใส่ carousel เยอะเกินไป: ควรตรวจสอบด้วย heatmap ว่าผู้ใช้งานกดดู carousel หรือไม่ ถ้าไม่ควรลดจำนวนลง
- อย่าใส่รูปใหญ่เกินไป: ควรใช้ภาพที่มีขนาดพอดีกับการแสดงผล เพื่อไม่ให้หน้าเว็บโหลดช้า
- อย่าติด third party script เยอะ: การติด script จาก third party มากเกินไป เช่น โฆษณา อาจทำให้หน้าเว็บช้าลง ควรตรวจสอบและจำกัดการใช้งาน
- อย่า embed เยอะเกินไปในหน้าเดียว: ควรใช้รูปภาพหรือข้อความนำ และให้ผู้ใช้งานคลิกเพื่อดูเนื้อหาเพิ่มเติม แทนการ embed เนื้อหาทั้งหมดในหน้าเดียว ซึ่งจะทำให้หน้าเว็บโหลดเร็วขึ้น
Key takeaways ก่อนจบงาน
รู้ให้ลึก รู้ให้จริง รู้ให้มากกว่า AI ถ้ารู้น้อยกว่ายังไงก็สู้กับคู่แข่งไม่ได้แน่ๆ
คุณไตเติ้ล กล่าว
validator.schema.org เอามาช่วยตรวจสอบเว็บว่าเราควรทำอะไรเพิ่มเติม และสร้างความเชื่อถือให้เว็บของเรา
คุณแทน กล่าว