การสร้างเว็บไซต์ด้วย WordPress มีกี่แบบ ทำไมราคาถึงต่างกันมาก

|
9 นาที ในการอ่าน

หลายคนที่ต้องการสร้างเว็บไซต์ด้วย WordPress อาจมีคำถามว่าทำไมราคาค่าพัฒนาถึงมีความแตกต่างกันอย่างมาก ตั้งแต่หลักพันไปจนถึงหลักแสนบาทหรือสูงกว่านั้น ความแตกต่างของราคานี้เกิดจากกระบวนการพัฒนาเว็บไซต์ที่หลากหลาย ส่งผลให้ต้นทุนและระยะเวลาในการทำงานมีความไม่เหมือนกัน บทความนี้จะอธิบายถึงวิธีการพัฒนาเว็บไซต์ด้วย WordPress ที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน พร้อมทั้งชี้แจงสาเหตุว่าทำไมราคาของแต่ละรูปแบบถึงแตกต่างกัน

สร้างด้วยธีมสำเร็จรูปในตลาด

การใช้ธีมสำเร็จรูป (Pre-made Themes) นับเป็นวิธีการสร้างเว็บไซต์ WordPress ที่ง่ายและรวดเร็วที่สุด ปัจจุบันมีธีมสำเร็จรูปให้เลือกมากมาย ทั้งในรูปแบบธีมฟรีจาก WordPress.org และธีมที่จำหน่ายในตลาด เช่น ThemeForest หรือ จากผู้พัฒนาของฝั่งไทยก็มี Seed Themes ผู้ใช้งานสามารถเลือกธีมที่ตรงกับความต้องการและติดตั้งได้ทันที จากนั้นสามารถปรับเปลี่ยนสี สไตล์ รวมถึงเนื้อหาเพื่อให้เหมาะสมกับธุรกิจหรือองค์กรได้

Theme Forest
Plant Theme

ข้อดีของการใช้ธีมสำเร็จรูปในการสร้างเว็บไซต์คือ ค่าใช้จ่ายต่ำ โดยธีมส่วนใหญ่มีราคาประมาณ 30-100$ หรือในบางกรณีก็เป็นฟรี ทำให้เหมาะสำหรับผู้ที่มีงบประมาณจำกัด นอกจากนี้ยังใช้เวลาในการพัฒนาน้อย เนื่องจากธีมสำเร็จรูปมีการออกแบบและพัฒนามาแล้ว ผู้ใช้เพียงปรับแต่งเนื้อหาและรูปแบบให้เหมาะสมก็สามารถใช้งานได้ทันที ดังนั้น จึงเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการเว็บไซต์แบบง่ายๆ โดยไม่ต้องเสียเวลาในการออกแบบและพัฒนาด้วยตนเอง

ข้อเสียของการใช้ธีมสำเร็จรูปคือ ความยืดหยุ่นในการปรับแต่งมีข้อจำกัดในกรณีที่ธีมไม่รองรับการเปลี่ยนแปลงหรือการปรับแต่งตามที่ต้องการ นอกจากนี้ ธีมสำเร็จรูปยังไม่เหมาะสำหรับเว็บไซต์ที่ต้องการฟังก์ชันพิเศษหรือดีไซน์ที่มีความเฉพาะเจาะจงและซับซ้อนเป็นพิเศษ ซึ่งอาจไม่สามารถตอบสนองความต้องการในด้านความสวยงามหรือการใช้งานเฉพาะทางได้ แต่ข้อดีคือเรื่องราคาและเวลาจะซึ่งใช้ในการพัฒนาต่ำที่สุด

ราคา: เริ่มต้น หลักพัน – ไปจนถึงหลายหมื่นบาท ($)

สร้างด้วย Page Builder

การใช้ Page Builder อย่าง Elementor, WPBakery, Beaver Builder หรือ Divi เป็นตัวช่วยที่เพิ่มความยืดหยุ่นในการสร้างและปรับแต่งเว็บไซต์ได้อย่างมาก Page Builder เป็นเครื่องมือที่ออกแบบมาเพื่อให้ผู้ใช้สามารถสร้างเลย์เอาต์ของเว็บไซต์ได้โดยไม่จำเป็นต้องเขียนโค้ด ผู้ใช้งานสามารถใช้ระบบ Drag-and-Drop เพียงลากและวางองค์ประกอบต่างๆ เพื่อปรับแต่งดีไซน์และฟังก์ชันได้ตามความต้องการ

Elementor
Breakdance Builder
Kadence WP

ข้อดีที่เห็นได้ชัดคือใช้งานง่าย แม้ไม่มีพื้นฐานการเขียนโค้ด ผู้ใช้สามารถสร้างเว็บไซต์ที่มีดีไซน์เฉพาะตัวและปรับแต่งได้ยืดหยุ่นมากกว่าการใช้ธีมสำเร็จรูปเพียงอย่างเดียว อีกทั้งยังมีปลั๊กอินและฟีเจอร์เสริมมากมายที่รองรับความต้องการในการพัฒนาเว็บไซต์เพิ่มเติม

ข้อเสียของการใช้ Page Builder ก็มี เช่น หากใส่ปลั๊กอินและฟีเจอร์มากเกินไป อาจทำให้เว็บไซต์โหลดช้าลง หรือกินพื้นที่เมมโมรี่ของเซิฟเวอร์มากจนเกินไป แต่ ณ ปัจจุบัน มี Page builder หลายเจ้าที่ใช้พื้นฐานจาก Gutenburg ทำให้ประสิทธิภาพเว็บไซต์โหลดได้รวดเร็วมากขึ้น เช่น Kadence, GreenshiftWP, Stackable เป็นต้น

ราคา: เริ่มต้น หลักพัน – ไปจนถึงหลักแสนบาท ($-$$)

สร้างธีมเองตั้งแต่เริ่มต้น

การสร้างธีมเอง (Custom Theme Development) คือกระบวนการออกแบบและพัฒนาธีมเฉพาะสำหรับเว็บไซต์ โดยเริ่มต้นจากการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ความต้องการของลูกค้า จากนั้นออกแบบผ่านเครื่องมืออย่าง Figma ตั้งแต่การวางโครงสร้าง Wireframe ไปจนถึงการสร้าง UI

หลังจากนั้นนำมาพัฒนาธีมด้วยการเขียนโค้ดใหม่ทั้งหมดโดยใช้เครื่องมืออย่าง Underscore, Underscore Tailwind, Seed Themes หรือ Sage ซึ่งเป็นตัวเลือกยอดนิยมในหมู่นักพัฒนาธีม ธีมเหล่านี้จัดโครงสร้างตาม Template Hierarchy ของ WordPress ทำให้การพัฒนาและปรับแต่งเป็นไปตามมาตรฐาน เพื่อสร้างเว็บไซต์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ โดยกระบวนการนี้เหมาะสำหรับผู้พัฒนาที่มีความเชี่ยวชาญด้าน Programming เนื่องจากจำเป็นต้องจัดการกับโค้ดทั้งหมดด้วยตนเอง

Underscore Tailwind
Sage

ข้อดีของการสร้างธีมเองคือ คุณจะได้เว็บไซต์ที่มีเอกลักษณ์ ไม่เหมือนใคร และตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างสมบูรณ์ 100% ทั้งในเรื่องดีไซน์และฟังก์ชันที่ปรับแต่งได้ตามต้องการ นอกจากนี้ ผลลัพธ์ที่ได้ยังมีประสิทธิภาพสูง เพราะไม่มีโค้ดส่วนเกินหรือองค์ประกอบที่ไม่จำเป็น และในระยะยาวการดูแลธีมจะค่อนข้างง่าย หากโค้ดเขียนตามหลักมาตรฐานอย่างถูกต้อง จะทำให้เว็บไซต์มีความปลอดภัยและสามารถใช้งานได้ยาวนาน การอัปเดตก็เพียงแค่ดูแลปลั๊กอินที่ใช้งานร่วมกันและ Core ของ WordPress เท่านั้น

ข้อเสีย ของกระบวนการพัฒนาธีมเองอาจใช้เวลามากกว่า เนื่องจากต้องพัฒนาและทดสอบในทุกส่วนตั้งแต่เริ่มต้น และจำเป็นต้องใช้ผู้พัฒนาที่มีทักษะสูง

ราคา: เริ่มต้น หมื่นปลายๆ – ไปจนถึงหลักแสน ถึงหลักล้านบาท ($$-$$$)

สร้างด้วย Headless CMS ใช้ WordPress เพียงแค่เก็บข้อมูล

ลักษณะการพัฒนาแบบใช้ WordPress เป็น Headless CMS เป็นการแยกการทำงานระหว่างการจัดการเนื้อหา (CMS) กับส่วนหน้าตาเว็บไซต์ (Front-end) โดยให้ WordPress ทำหน้าที่เป็น Backend ในการจัดการเนื้อหา และพัฒนา Front-end ด้วย Javascript Framework เช่น Nuxt.js, Next.js หรือ Astro วิธีนี้เหมาะสำหรับโปรเจคต์ที่ต้องการประสิทธิภาพสูง โดยเฉพาะเว็บไซต์ขนาดใหญ่ เช่น เว็บไซต์ที่ต้องรองรับผู้ใช้งานจำนวนมาก ตัว Framework เหล่านี้ช่วยในการโหลดหน้าเว็บได้อย่างรวดเร็ว และการแยกระบบ CMS กับ Front-end ยังช่วยให้สามารถปรับแต่งและพัฒนาได้อย่างอิสระ

Astro
Next.js

ข้อดีของการพัฒนาด้วยวิธีนี้คือ ความสามารถในการเพิ่มประสิทธิภาพเว็บไซต์ โดย Javascript Framework ช่วยปรับปรุงความเร็วในการโหลดหน้าเว็บและเพิ่มประสบการณ์การใช้งานที่ราบรื่น นอกจากนี้ การที่ CMS (WordPress) และ Front-end ถูกแยกออกจากกัน ทำให้ทีมพัฒนาสามารถออกแบบและปรับปรุงเว็บไซต์ได้ตามความต้องการอย่างอิสระ โดยไม่ถูกจำกัดด้วยคุณสมบัติหรือโครงสร้างของ WordPress จึงเหมาะสมสำหรับโปรเจกต์ที่ต้องการฟังก์ชันเฉพาะทางหรือดีไซน์ที่ไม่เหมือนใคร

ในขณะเดียวกัน ข้อเสียก็คือวิธีนี้ต้องการทีมพัฒนาที่มีทักษะทางเทคนิคที่หลากหลายและเชี่ยวชาญ เนื่องจากต้องมีการเขียนโค้ดในหลายส่วน รวมถึงการจัดการกับ API เพื่อเชื่อมต่อระหว่าง CMS และ Front-end นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายสำหรับการพัฒนาด้วยวิธีนี้สูงกว่าวิธีอื่น เพราะต้องดูแลทั้งในส่วนของ CMS และ Front-end และอาจมีความยุ่งยากในการบำรุงรักษาในระยะยาวโดยเฉพาะเมื่อมีการอัปเดตหรือเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเว็บไซต์

ราคา: เริ่มต้น หลักแสน – ไปจนถึงหลักล้านบาท ($$$-$$$$)

มีปัจจัยอะไรอีก ที่ทำให้ราคาเพิ่มขึ้น หรือลดลงได้อีก​ ?

นอกจากปัจจัยที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่สามารถทำให้ราคาการพัฒนาเว็บไซต์ WordPress เพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ ดังนี้:

  1. การออกแบบเฉพาะตัว (Custom Design)
     หากต้องการออกแบบเว็บไซต์ให้มีเอกลักษณ์ แตกต่างจากธีมสำเร็จรูป จะต้องใช้เวลาและทักษะของนักออกแบบ โดยเฉพาะหากต้องการงานออกแบบที่สวยงามหรือซับซ้อน
  2. จำนวนหน้าภายในเว็บไซต์
    ยิ่งเว็บไซต์มีจำนวนหน้ามาก เช่นหน้าเนื้อหา บทความ หรือหน้าสำหรับหมวดหมู่ต่างๆ การจัดการและพัฒนาก็จะใช้เวลามากขึ้น ส่งผลต่อราคาที่เพิ่มขึ้น
  3. ความต้องการด้านการใช้งานหลายภาษา
    เว็บไซต์ที่รองรับการใช้งานหลายภาษา (Multilingual) เช่น การใช้ปลั๊กอินอย่าง WPML, Polylang หรือการพัฒนาระบบแสดงผลหลายภาษา อาจเพิ่มต้นทุนการพัฒนาและค่าใช้จ่ายในส่วนของการแปลเนื้อหา
  4. ระบบเฉพาะด้าน เช่น E-Commerce และ E-Learning รวมถึงการใช้ปลั๊กอินร่วมด้วย
    เว็บไซต์ที่ต้องใช้ระบบเฉพาะด้าน เช่น E-Commerce, E-Learning หรือระบบจองสินค้า มักมีความซับซ้อนในการพัฒนาและการจัดการสูงกว่าเว็บไซต์ทั่วไป เนื่องจากต้องการฟังก์ชันพิเศษ เช่น ระบบการจัดการสินค้า ระบบตะกร้าสินค้า การชำระเงินออนไลน์ ระบบสมาชิก หรือระบบจัดการบทเรียน ทั้งนี้ การเลือกใช้ปลั๊กอินสำเร็จรูป เช่น WooCommerce, Tutor LMS, LearnDash เป็นต้น
  5. จำนวนคนที่เกี่ยวข้อง
    จำนวนคนในทีมพัฒนาและความเชี่ยวชาญของบุคลากรในทีมส่งผลต่อคุณภาพและต้นทุนของงานโดยตรง ทีมที่มีจำนวนบุคลากรมากกว่า เช่น มีทั้งนักออกแบบ UX/UI, นักพัฒนาด้าน Front-end และ Back-end หรือผู้เชี่ยวชาญด้าน SEO อาจช่วยให้งานเสร็จเร็วขึ้นและมีคุณภาพสูงขึ้น แต่ก็ทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นด้วย

การตัดสินใจเลือกวิธีพัฒนาเว็บไซต์ด้วย WordPress ควรพิจารณาจากงบประมาณ ความต้องการ และขอบเขตของโครงการ หากคุณต้องการเว็บไซต์ที่เรียบง่ายและมีงบประมาณจำกัด การใช้ธีมสำเร็จรูปหรือ Page Builder อาจเป็นตัวเลือกที่เหมาะสม แต่หากคุณต้องการปรับแต่งเว็บไซต์อย่างอิสระหรือต้องการประสิทธิภาพสูง การสร้างธีมขึ้นมาเองหรือการใช้ Framework เช่น Nuxt/Next.js อาจเป็นตัวเลือกที่ตอบโจทย์ แม้ว่าจะมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่ามาก อย่างไรก็ตาม วิธีการพัฒนาไม่ได้เป็นปัจจัยเพียงอย่างเดียวที่กำหนดราคา เนื่องจากยังมีปัจจัยอื่น ๆ อีกหลายอย่างที่ส่งผลต่อค่าใช้จ่ายโดยรวม

Designil PDPA Banner Thai Woo AIO Banner
แชร์:
line

author - aum watcharapon
อั้ม วัชรพล
👨🏻‍💻 ผู้เชี่ยวชาญทางด้าน WordPress

Subscribe to newsletter

doaction จะส่งเพื่อแจ้งเตือนเมื่อมีบทความใหม่ๆ ในเว็บไซต์และสามารถกดยกเลิกได้ตลอดเวลา

บทความอื่นๆ

CompressX: WordPress ปลั๊กอินลดขนาดรูปฟรี ที่ทุกไซต์ควรมี

ไม่นานมานี้ได้มีโอกาสทำเว็บไซต์ Personal Brand เลยไปเจอกับปลั๊กอินตัวนึงซึ่งดีมากๆ ดีเกินจริงไป โดยมีความสามารถ ที่ช่วยลดขนาดรูปภาพที่อัพขึ้นไปบนเว็บไซต์, แปลงเป็นฟอร์แมต WebP หรือ AVIF, เลือก library ที่ต้องการใช้ในการแปลงรูปได้, จัดการรูปที่เคยอัพไปแล้วได้ด้วย, กำหนดขนาดรูปสูงสุด และยังมีฟีเจอร์อีกมากมาย จนคิดว่าเป็นปลั๊กอินเสียตังค์แน่ๆ แต่ทั้งหมดที่ว่านั้นคือฟรี เราลองมาดูกันว่ามีฟีเจอร์อะไรที่น่าสนใจบ้าง เลือกไลบรารี่ที่จะมาใช้บีบอัดรูปภาพ เราสามารถเลือก ไลบรารี่ที่จะมาเอามาช่วยแปลงไฟล์ได้ โดยให้เลือกระหว่าง GD: จะเป็น PHP Extension ที่ช่วยจัดการย่อขนาดรูป ข้อดีโดยจะมีความเร็วกว่า ในการจัดการรูปขนาดใหญ่ แต่ข้อเสียจะรองรับฟอร์แมตไฟล์ได้น้อยกว่า Imagick: เป็นอีกทางเลือกหนึ่งโดยจะรองรับฟอร์แมตได้เยอะกว่า และทำให้รูปภาพออกมาได้คุณภาพที่สูงกว่า โดยเราสามารถคลิกเพื่อตรวจสอบได้ว่า Hosting ที่เราใช้งานได้ทำการเปิด Extension ดังกล่าวไว้ไหม ได้ที่ลิงก์ Check Environment เลือกฟอร์แมต WebP, AVIF ความแตกต่างระหว่างทั้งสองฟอร์ตแมตสามารถเลือกได้ตามความเหมาะสม โดย WebP: เหมาะสำหรับการใช้งานทั่วไป เพราะรองรับบนเบราว์เซอร์หลักและแพลตฟอร์มที่หลากหลาย และยังคงให้คุณภาพสูงพร้อมขนาดไฟล์เล็กกว่าฟอร์แมตดั้งเดิม (JPEG, PNG) AVIF: […]

อ่านต่อ

หากมีคำถาม หรือต้องการคำปรึกษาเกี่ยวกับ WordPress

สำนักงาน

  • บริษัท ดู แอคชั่น จำกัด
    66 ซอยเพชรเกษม 98/1, ถนนเพชรเกษม,
    แขวงบางแคเหนือ, เขตบางแค
    กรุงเทพมหานคร
    10160
ไอคอน PDPA

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อเสริมประสบการณ์การใช้งานของคุณ

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า